หน้าแรก เข้าสู่ระบบ
       ปีการศึกษาที่นำเสนอ


       ปีงบประมาณ


       นักวิจัย
การพัฒนาครูสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา กรณีศึกษา โรงเรียนลำปางพาณิชยการและเทคโนโลยี
Teacher developing of Constructionism Learning Process A Case Study of Lampang college of Commerce and Technology
นักวิจัย  หัสยา วงค์วัน
ปีงบประมาณ  2558
ปีที่นำเสนอ  2558
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา สภาพ ปัญหา ความคาดหวัง ของการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา และศึกษาแนวทางการพัฒนาครูด้าน การจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา พร้อมทั้ง เพื่อดำเนินการพัฒนาครู และศึกษาผลการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ของโรงเรียนลำปางพาณิชยการ และเทคโนโลยี ปีการศึกษา 2558 การดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการวางแผน (Planning)  ขั้นตอนการปฏิบัติตามแผน (Action) ขั้นตอนการสังเกต (Observation) และขั้นตอนการสะท้อนผล (Reflecting) ดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัย ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย เป็นครูสายผู้สอนโรงเรียนลำปางพาณิชยการ และเทคโนโลยี จำนวน 20 คน และ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ ได้แก่ แบบสังเกตแบบมีส่วนร่วม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการประชุม แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยแจกแจงข้อค้นพบที่สำคัญ ตรวจสอบข้อมูลโดยใช้การตรวจสอบแบบสามเส้า (Triangulation technique) นำเสนอผลการวิจัยในรูปแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive analysis) ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้ สภาพ ในการจัดการเรียนรู้ ของโรงเรียนลำปางพาณิชยการ และเทคโนโลยี พบว่าโรงเรียนมีระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ของครูโดยมีหัวหน้าสาขาวิชา เป็นผู้ดูแลการจัดการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระ ครูผู้สอนส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้รับมอบหมาย และมีการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งให้ผู้บริหารโรงเรียนตรวจ อย่างสม่ำเสมอ ปัญหาในการจัดการเรียนรู้ ของโรงเรียนลำปางพาณิชยการ และเทคโนโลยี พบว่า การจัดการเรียนรู้ของครูยังไม่เป็นการจัดกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญามากนัก นักเรียนไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้เท่าที่ควร การผลิตสื่อ นวัตกรรมทางการศึกษา และการทำวิจัยในชั้นเรียนของครูยังมีการดำเนินการน้อย ในส่วนของการประเมินผลผู้เรียน ครูใช้การประเมินผลตามสภาพจริงค่อนข้างน้อยเช่นกัน ครูผู้สอนโรงเรียน ส่วนใหญ่มีความคาดหวัง อยากจะจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและอยากให้มีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา มาชี้แนะแนวทางให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญาได้จริงในเชิงปฏิบัติ ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาครู พบว่าครูผู้สอนส่วนใหญ่ มีความต้องการที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญาโดยการฝึกอบรม จากผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริง และให้มีการนิเทศ ติดตามอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ตามแนวทาง และกิจกรรมการพัฒนาครู สรุปได้ว่า แนวทางการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ร่วมวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแนวทางที่เน้นให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาครู ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ส่งผลให้เกิดความสามัคคี และรับผิดชอบร่วมกันในกลุ่มผู้ร่วมวิจัย จนทำให้การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกิจกรรมการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา พบว่า เป็นกิจกรรมที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้รวมวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ การลงมือปฏิบัติจริง และการนิเทศให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้ร่วมวิจัยและจากผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มผู้ร่วมวิจัยลงมือปฏิบัติจริง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน ผลจากการดำเนินการตามแนวทางและกิจกรรมดังกล่าว ทำให้การดำเนินการพัฒนาครู ด้านการจัดการเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา โรงเรียนลำปางพาณิชยการ และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จด้วยดี ครูผู้สอนที่เข้ารับการพัฒนาตนเอง จำนวน 20 คน เกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดทักษะด้านด้านการจัดการเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา สามารถพัฒนา การจัดการเรียนรู้ แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา อย่างเป็นรูปธรรม ได้ทุกคน

 เอกสารแนบ
      1. บทที่ 3
      2. บทที่ 4
      3. บทที่ 5
      4. บทที่1
      5. บทที่2